ประวัติ สมรักษ์ คำสิงห์

| 01/01/1970 07:00 น. | 926 Views

สมรักษ์ คำสิงห์

เรือเอก สมรักษ์ คำสิงห์ ร.น. คือนักมวยชาวไทยคนแรก ที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ในกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 26 ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ในปีพ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996)

วัยเด็ก

สมรักษ์ เป็นชาวหมู่บ้านโนนสมบูรณ์ จังหวัดขอนแก่น เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2516 ในครอบครัวยากจน เป็นบุตรคนกลาง ในจำนวนพี่น้อง 3 คน ของ นายแดง และ นางประยูร คำสิงห์ เหตุที่มีชื่อเล่นว่า "บาส" ก็เพราะต้องการให้คล้องกับชื่อเล่นของพี่ชายซึ่งเป็นนักมวยด้วยเหมือนกัน คือ สมรถ คำสิงห์ ที่มีชื่อว่า "บัส" เนื่องจาก คลอดบนรถโดยสาร ระหว่างเดินทางไปสถานีอนามัยอำเภอ

เส้นทางมวยไทย

นักมวยบ้านนอก

สมรักษ์เข้าเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนมหาไถ่ศึกษาโนนสมบูรณ์ ด้วยเหตุที่สมรักษ์มีพ่อเป็นนักมวยเก่า จึงได้รับการฝึกการชกมวยไทยมาตั้งแต่เด็ก ขึ้นชกมวยครั้งแรกขณะอายุได้ 7 ปี และได้ตระเวนชกตามเวทีงานวัดต่างๆจนทั่วอ.โนนไผ่ และได้รับการทาบทามจากณรงค์ กองณรงค์ หัวหน้าคณะณรงค์ยิมให้มาร่วมค่าย สมรักษ์จึงขอขึ้นชกมวยไทยในชื่อ สมรักษ์ ณรงค์ยิมและกลายเป็นมวยมีชื่อในจ.ขอนแก่น

เข้ากรุง

ต่อมา ณรงค์กับนายแดงพ่อของสมรักษ์เกิดแตกคอกัน สมรักษ์จึงย้ายไปอยู่ค่ายศิษย์อรัญ เข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ ได้ไปเรียนที่ โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา โดยชกทั้งมวยไทย และมวยสากลสมัครเล่น สมรักษ์ขึ้นชกมวยไทยในชื่อ พิพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ แต่พอสมรักษ์ขึ้น ม.2 พ่อก็ถึงแก่กรรม

ในเส้นทางมวยไทย สมรักษืตระเวนชกตามเวทีต่างทั้ง ชลบุรี สำโรง อ้อมน้อยจนกระดูกแข็ง เจนสังเวียนมากขึ้นจึงขึ้นชกมวยที่เวทีมาตรฐานทั้งเวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินี มีโอกาสขึ้นชกกับนักมวยชื่อดังยุคนั้นหลายคน เช่น ชาติชายน้อย ชาวไร่อ้อย ช้างน้อย ศรีมงคล บัวชาว ป.พิสิษฐ์เชษฐ์ ฉมวกเพชร ช่อชะมวง แต่ไม่เคยได้แชมป์มวยไทยของเวทีใด จน พ.ศ. 2538 จึงขึ้นชกมวยไทยครั้งสุดท้าย ชนะน็อค สุวิทย์เล็ก ส.สกาวรัตน์ ยก 4 แล้วจึงหันมาเอาดีด้านมวยสากลสมัครเล่นอย่างเดียว ค่าตัวสูงสุดที่ได้รับจากการชกมวยไทยอยู่ที่ราว 180,000 บาท จัดเป็นนักมวยเงินแสนคนหนึ่ง

เส้นทางมวยสากลสมัครเล่น

สมรักษ์เริ่มเข้าแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นในนามของโรงเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2528 เมื่ออายุ 12 ปี โดยมีพิกัดน้ำหนัก 52 กิโลกรัมเมื่อสมรักษ์จบ ม.6 จากโรงเรียนผดุงศิษย์ฯ ได้รับการทาบทามจากสโมสรราชนาวีให้ชกมวยสากลสมัครเล่นในนามของสโมสรและจะบรรจุให้เข้ารับราชการในกองทัพเรือด้วย สมรักษ์จึงตอบตกลง สมรักษ์ประสบความสำเร็จได้ทั้งแชมป์ประเทศไทยและเหรียญทองกีฬาแห่งชาติ

ติดทีมชาติ

สมรักษ์ เข้าสู่ทีมชาติครั้งแรก ในการแข่งขันโอลิมปิก ที่บาร์เซโลนา ในปี พ.ศ. 2535 แต่ตกรอบแรก พ.ศ. 2536 ได้เหรียญทองมวยทหารโลกที่ประเทศอิตาลี แต่ไม่ได้ติดทีมชาติไปแข่งกีฬใซเกมส์ในปีนั้นเพราะไม่พร้อม สมรักษ์เริ่มมีชื่อเสียง จากการเป็นนักกีฬาไทย ที่ได้เหรียญทองเพียงคนเดียว ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ในปี พ.ศ. 2537 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าเขาเกือบจะถูกตัดสิทธิ์เพราะตรวจสมรรถภาพร่างกายไม่ผ่านในครั้งแรก (ภายหลังสภาโอลิมปิคเอเชีย ได้กลับคำตัดสิน โดยให้ รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ นักว่ายน้ำ ได้ 2 เหรียญทอง)

นักมวยประวัติศาสตร์
 
สมรักษ์ (ซ้าย) ได้รับการชูมือหลังจากชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ ได้ครองเหรียญทองพ.ศ. 2538 สมรักษ์ได้เหรียญทองจากกีฬาซีเกมส์ที่เชียงใหม่ และผ่านการคัดเลือกไปแข่งกีฬาโอลิมปิกรอบสุดท้ายได้สมรักษ์โด่งดังถึงที่สุดในปี พ.ศ. 2539 เมื่อสมรักษ์สามารถคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกมาได้ โดยชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ จากบัลแกเรีย ด้วยคะแนน 8-5 เส้นทางสู่ทองประวัติศาสตร์เริ่มจากรอบแรกเอาชนะแดเนี่ยล เซต้า นักชกเปอร์โตริโก 13-2, รอบสอง ชนะฟิลิป เอ็นดู จากแอฟริกาใต้ 12-7

รอบสามหรือรอบก่อนรองชนะ รามาส พาเลียนี่ จากรัสเซีย 13-4 นั่นหมายถึงว่าได้เหรียญทองแดงคล้องคอไว้แล้ว และสมรักษ์ชนะ พาโบล ชาคอน จากอาร์เจนตินาไปได้ 20-8 และท้ายที่สุดเอาชนะ เซราฟิม โทโดรอฟ จากบัลแกเรียไปได้ ซึ่งก่อนการชกในรอบชิงชนะเลิศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้พระราชทานกระเช้าผลไม้มายังสมรักษ์และทีมงานพร้อมทั้งทรงอวยพรให้สมรักษ์ได้รับชัยชนะด้วย โดยการแข่งขันโอลิมปิคในครั้งนี้ สมรักษ์ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า " Kamsing Somluck " โดยเจตนาให้มีนัยทางโชคด้วย (แต่ผู้บรรยายภาษาอังกฤษอ่านออกเสียงว่า คำซิง สมลุก)

วีรบุรุษโอลิมปิก

ภายหลังจากได้เหรียญทองแล้ว สมรักษ์กลายเป็นบุคคลชื่อดังไปในทันที กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ในเวลาไม่นาน ด้วยความเป็นคนมีบุคคลิกเฮฮา มีสีสัน น่าสนใจ ภายหลังจากกลับมาจากโอลิมปิคที่แอตแลนต้าแล้ว สมรักษ์ก็มีงานในวงการบันเทิงเข้ามา เริ่มจาก ละครเรื่อง "นายขนมต้ม" ทางช่อง 7 ที่รับบทเป็นนายขนมต้มพระเอกเอง โดยประกบคู่กับ กุลณัฐ ปรียะวัฒน์ นางเอก และเพื่อน ๆ นักมวยรุ่นพี่อีกหลายคน

โม้อมตะ

และนับแต่นั้นมา สมรักษ์ก็มีสถานะเหมือนเป็นดาราคนหนึ่งไปโดยปริยาย มีงานต่าง ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ ทำให้สมรักษ์เอาใจใส่ในการชกมวยน้อยลง จนมีข่าวว่าเขาซ้อมน้อยลง หนีซ้อมบ้าง เป็นต้น แต่กระนั้นเจ้าตัวก็ยังยืนยันว่าฝีมือของตัวเองยังคงเหมือนเดิม ถึงขนาดกล้าทำนายผลการชกล่วงหน้า ซึ่งก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง จนได้ฉายาว่า "โม้อมตะ" แต่หลังจากได้รับเหรียญทองกีฬาเอเชียนเกมส์ใน ปี พ.ศ. 2541 แล้ว การชกครั้งต่อมา สมรักษ์ไม่ประสบความสำเร็จเลย โดยตกรอบสาม ในการแข่งขันโอลิมปิกที่ซิดนีย์ ปี พ.ศ. 2543 และตกรอบแรกในโอลิมปิกที่เอเธนส์ ปี พ.ศ. 2547 ทำให้เลิกชกมวยอย่างเด็ดขาด

ชีวิตปัจจุบัน
 
สมรักษ์ คำสิงห์ กับบทบาทการแสดงละครปัจจุบัน สมรักษ์ยังคงมีงานในวงการบันเทิง มีผลงานออกมาเป็นระยะ ๆ ล่าสุด ได้แสดงภาพยนตร์ระดับโลกเรื่อง Fearless ในปี พ.ศ. 2549 โดยบทบาทในเรื่องต้องปะทะกับ หลี่เหลียนเจี๋ย ด้วย มีกิจการของตัวเอง เช่น ร้านหมูกระทะ ชื่อ "สมรักษ์ย่างเกาหลี" ย่านเกษตร-นวมินทร์ และมีค่ายมวยของตนเอง ชื่อค่าย "ส.คำสิงห์"

ผลงาน

แชมเปียน นักเรียนนวมทอง ของ โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา 5 ปี
แชมเปียน การแข่งขันมวย ของกรุงเทพมหานคร 2 ปี
เหรียญทอง การแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ในกีฬาแห่งชาติ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เหรียญทองแดง การแข่งขันมวยทหารโลก ที่ประเทศเดนมาร์ก
เหรียญเงิน การแข่งขัน เมเยอร์ คัพ ที่ประเทศฟิลิปปินส์
เหรียญทอง การแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศอิหร่าน
เหรียญเงิน การแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 7 ที่ประเทศไทย
เหรียญทอง การแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น รุ่นเฟเธอร์เวท ในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2537 ที่ฮิโรชิมา ญี่ปุ่น
เหรียญทอง การแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 20 ประจำปี พ.ศ. 2538 ที่จังหวัดเชียงใหม่
เหรียญทอง การแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ในซีเกมส์ ครั้งที่ 18 ประจำปี พ.ศ. 2538 ที่จังหวัดเชียงใหม่
เหรียญทอง การแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ในโอลิมปิก เกม ครั้งที่ 26 ประจำปี พ.ศ. 2539 ที่แอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา
เหรียญทอง การแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2541 ที่ กรุงเทพมหานคร
เป็นนักมวยไทยคนแรกที่ผ่านรอบคัดเลือก เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันรอบสุดท้าย ในกีฬา โอลิมปิก เกม ถึง 4 ครั้งติดต่อกัน คือ
 - กีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 25 พ.ศ. 2535 ที่บาร์เซโลนา
 - กีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 26 พ.ศ. 2539 ที่แอตแลนตา
 - กีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 27 พ.ศ. 2543 ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย
 - กีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 28 พ.ศ. 2547 ที่เอเธนส์ กรีซ

ADS