ประวัติ พเยาว์ พูนธรัตน์

| 01/01/1970 07:00 น. | 976 Views

 ผลบอล , live score

พเยาว์ พูนธรัตน์ 

ข้อมูลส่วนตัว
 
ชื่อจริง :
ร.ต.อ.พเยาว์ พูนธรัตน์
วันเกิด : 15 ตุลาคม พ.ศ. 2499
สถานที่เกิด : จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วันที่เสียชีวิต : 13 สิงหาคม พ.ศ. 2549
สถานที่เสียชีวิต : กรุงเทพมหานคร
ผู้จัดการ : สหสมภพ ศรีสมวงศ์
เทรนเนอร์ : สุรัตน์ เสียงหล่อ, สุดใจ สัพพะเลข
สถิติการชก : ชก 13 ชนะ 9 (ชนะน็อก 6) แพ้ 4 เสมอ 0

ประวัติความเป็นมา

ร้อยตำรวจเอก พเยาว์ พูนธรัตน์ อดีตฮีโร่โอลิมปิคคนแรกของไทย อดีตแชมเปี้ยนโลกชาวไทยคนที่ 7 และอดีต ส.ส. ประจวบคีรีขันธ์ ของพรรคประชาธิปัตย์

พเยาว์ พูนธรัตน์ มีชื่อเล่นว่า "จ้อน" เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สมัยวัยรุ่นเคยชกมวยไทยมาก่อนอย่างโชกโชน ในชื่อ "เพชรพเยาว์ ศิษย์ครูทัศน์" โดยชกประจำในศึกจ้าวตะวันออก ของโปรโมเตอร์ นภา นาคปฐม ที่เวทีราชดำเนิน

หลังจากชกมวยไทยอย่างมาโชกโชนแล้ว จึงเบนเข็มหันไปชกมวยสากลสมัครเล่น ติดทีมชาติ ได้ชกและได้รางวัลในหลายรายการ เช่น แชมป์มวยคิงส์คัพ, แชมป์โกลเด้นคัพ ที่ประเทศเคนยา, เหรียญเงินมวยสมัครเล่นชิงแชมป์โลก ที่สหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงติดทีมชาติไปชกในโอลิมปิคครั้งที่ 21 พ.ศ. 2519 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยชนะยียอง ยีเยโด นักมวยชาวฮังการี ก่อนจะไปแพ้นักมวยชาวเกาหลีเหนือในรอบตัดเชือก ได้เหรียญทองแดง ในรุ่นไลท์ฟลายเวท นับเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค โดยขณะนั้น พเยาว์มีอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น

การชกมวยสากลอาชีพ

จากนั้นอีก 6 ปี ต่อมา จึงได้หันมาชกมวยสากลอาชีพ โดยแรกเริ่มอยู่ในสังกัดของ ธรรมนูญ วรสิงห์ ผู้จัดการของเนตรน้อย ศ.วรสิงห์ แต่ต่อมา พเยาว์ได้ย้ายไปอยู่ในสังกัดของจูน ซาเรียล โปรโมเตอร์ชาวฟิลิปปินส์ และได้รับการบรรจุชื่อในอันดับของสถาบันมวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF) จนกระทั่งได้รับการติดต่อให้ไปชิงแชมป์ภาค ฯ กับ ซุน ซุน กวอน นักมวยชาวเกาหลีใต้ ที่กรุงโซล ถิ่นของแชมป์ พเยาว์ที่ซึ่งการฟิตซ้อมไม่พร้อม เนื่องจากรู้กำหนดการชกไม่นาน ก็ยังสามารถชกแชมเปี้ยนลงไปนับ 8 กับพื้นเวที ได้ครั้งหนึ่ง ก่อนจะครบ 12 ยก กรรมการจึงรวมคะแนนให้แชมป์ชาวเกาหลีใต้ชนะไปอย่างค้านสายตา

แต่เมื่อกลับมา พเยาว์ได้รับการปลุกปั้นอย่างจริงจัง จากกลุ่มผู้สนับสนุนกลุ่มใหม่ คือ สหสมภพ ศรีสมวงศ์ พเยาว์สร้างผลงานดีขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ชนะน็อก แดน พิศาลชัย อดีตนักมวยสร้างชาวไทยด้วยกัน ชนะน็อก ฮวาง ช็อค ลี นักมวยชาวเกาหลีใต้ ชนะคะแนน อลองโซ่ สตรองโบ นักมวยชาวอเมริกัน ชนะคะแนน ฮวน ไดแอซ นักมวยชาวเม็กซิกันอย่างสวยสดงดงาม

พเยาว์ พูนธรัตน์ ขึ้นชิงแชมป์โลกในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท (115 ปอนด์) ของสภามวยโลก (WBC) กับ ราฟาเอล โอโรโน่ แชมป์โลกชาวเวเนซุเอลา ที่ โรงแรมแกรนด์ พาเลซ พัทยา จ.ชลบุรี ในคืนวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 โดยที่ขณะนั้น โอโรโน่ ป้องกันตำแหน่งมาได้ 3 ครั้งแล้ว และก่อนที่จะมาเดินทางมาเมืองไทย โอโรโน่เพิ่งป้องกันตำแหน่งไว้ได้หมาด ๆ ในเดือนตุลาคม เดือนเดียวก่อนหน้านี้เอง ที่กรุงคารากัส ประเทศบ้านเกิด

ผลการชก พเยาว์ พูนธรัตน์ เอาชนะคะแนนไปได้อย่างหวุดหวิด ท่ามกลางความตื่นเต้น ดีใจของคนทั่วประเทศ เนื่องจากเวลานั้น เมืองไทยอยู่ในสภาพปลอดแชมป์โลกมานานเกือบ 6 ปี แล้ว (โดยแชมป์คนสุดท้ายคือ แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ เสียแชมป์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2521)

ต้นปี พ.ศ. 2527 พเยาว์ ป้องกันตำแหน่งครั้งแรกโดยชนะทีเคโอยก 10 กูดี้ เอสปาด้า อดีตแชมป์โลกชาวเม็กซิกัน ที่เวทีราชดำเนิน อย่างงดงาม แต่ก็เกือบแพ้ไปเหมือนกัน เพราะพเยาว์ถูกชกลงไปให้กรรมการนับ 8 ก่อนในยกแรก ๆ

วันที่เดินทางกลับมาจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจากนั้น จิโร วาตานาเบ้ แชมป์โลกรุ่นเดียวกันของสมาคมมวยโลก (WBA) ติดต่อให้พเยาว์เดินทางไปเดิมพันตำแหน่งล้มแชมป์ด้วยที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อถึงวันชก สมาคมมวยโลกได้ปลดวาตานาเบ้ออกจากตำแหน่งแชมป์ เนื่องจากไม่เห็นชอบด้วยกับการชก ทำให้การชกในวันนั้นจึงกลายเป็น พเยาว์ ป้องกันตำแหน่งกับ จิโร วาตานาเบ้ แทน ซึ่งผลการชก พเยาว์ทำได้ดี ดูแล้วน่าจะเป็นผู้ชนะ แต่เมื่อครบ 12 ยกแล้ว กรรมการรวมคะแนนให้ จิโร วาตานาเบ้ ชนะ ได้แชมป์ไปครองแทน ท่ามกลางความเห็นแย้งของชาวไทย

ชีวิตหลังการชกมวย

จากนั้น พเยาว์จึงแขวนนวมและไม่ยุ่งเกี่ยวกับวงการมวยอีกเลย โดยได้เข้าทำงานในธนาคารกรุงเทพ สาขาสำนักงานใหญ่ สีลม อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะลาออกมารับราชการตำรวจ ประจำกองโยธาธิการกรมตำรวจ โดยได้ยศสูงสุดคือ ร้อยตำรวจเอก (ร.ต.อ.)

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2538 พเยาว์ลาออกจากชีวิตตำรวจ โดยลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ บ้านเกิด แต่ไม่ได้รับการเลือก แต่พเยาว์ก็ยังพยายามลงต่อมาในอีกหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2539 ก็ไม่ได้ จนกระทั่งมาประสบความสำเร็จ ใน ปี พ.ศ. 2544 โดยได้เป็นผู้แทนในเขต 3

แต่ในปี พ.ศ. 2545 พเยาว์เริ่มป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ หรือ ALS ซึ่งเป็นโรคที่น้อยรายจะเป็น แม้จะเข้ารับการรักษาแล้ว แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น กลับทรุดหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเป็นอัมพาต พูดไม่ได้ ต้องนั่งอยู่บนรถเข็น แต่กระนั้น สถานะความเป็น ส.ส. ของพเยาว์ ก็ยังไม่หมดไป และ พเยาว์ ก็ได้รับการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วนของสังคม เช่น การกีฬาแห่งประเทศไทย, รัฐสภา เป็นต้น จนกระทั่ง เมื่อบ่ายของวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2549 พเยาว์ พูนธรัตน์ ก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลศิริราช

ADS