ประวัติ เด่นเก้าแสน กระทิงแดงยิม

| 01/01/1970 07:00 น. | 713 Views
ชื่อจริง : สุเทพ หวังมุก
ชื่อเล่น : มะ
ฉายา : แชมป์โลกปลดแอก
วันเกิด : 19 สิงหาคม พ.ศ. 2519 (37 ปี)
สถานที่เกิด : จังหวัดสงขลา
รุ่น : ฟลายเวท, ซูเปอร์ฟลายเวท
ค่ายมวย : เก้าวิชิต, สิงห์วังชา, แกแล็คซี่ โปรโมชั่น
ผู้จัดการ : ชูโชค ชูแก้วรุ่งโรจน์ (เสียชีวิตแล้ว), นริศ สิงหวังชา (อดีต), นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์
ผู้ฝึกสอน : สุเทพ ณ นคร (อดีต), เขาทราย แกแล็คซี่, ดุรงค์ อพอลโล่, อนันต์ ตัวลือ

 
เกียรติยศ:
-แชมป์ฟลายเวต PABA (2539-2545, 2547-2550)
-แชมปฟลายเวตเฉพาะกาล PABA (2546-2547, 2551)
-แชมป์ฟลายเวต WBC Asia (ABCO เดิม) (2551)
-แชมป์ฟลายเวต WBA (2551-ปัจจุบัน)
-ล่าสุด 3 กันยายน 2556 ชนะคะแนน(ไม่เป็นเอกฉันท์) โนบุโอะ นาชิโร่ (ญี่ปุ่น) ที่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา สามารถครองตำแหน่งแชมป์โลก WBA เฉพาะกาลรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท (115 ปอนด์) ได้สำเร็จ
 

เส้นทางมวยอาชีพ
       เด่นเก้าแสน กระทิงแดงยิม เป็นชาวไทยมุสลิมมีชื่อจริงว่า "นายสุเทพ หวังมุ๊" เพื่อนบ้านเรียกกันติดปากว่า "แวฮามะ" เกิดเมื่อ 23 ส.ค. 2519 ปัจจุบันอายุ 32 ปี เป็นลูกคนที่ 2 จากจำนวน 7 คน ของคุณพ่ออูเซ็ง คุณแม่ยาเราะห์ เกิดที่สงขลาบ้านเกิดของพ่อ แต่มาโตที่เกาะสมุยถิ่นเกิดของแม่ 
       เมื่ออายุได้ 12 ปี พ่อเห็นว่าชีวิตตนชอบโลดโผนแก่นแก้วนัก เลยพาไปฝากค่ายมวย "เก้าวิชิต" ของอำนวย แซ่วุ่น หัวหน้าคณะ ซึ่งปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่แต่เลิกทำมวยไปนานแล้ว ต่อมาชะตาชีวิตหันเหให้มาเป็นนักมวยอาชีพ โดยใช้ชื่อ "เด่นเก้าแสน เก้าวิชิต" ขึ้นชกแถวบ้านเกิดแดนปักษ์ใต้ 70 กว่าครั้ง ได้รับการชูมืออย่างผู้ชนะถึง 52 ครั้ง
       ปี 2535 อายุ 16 ปี เข้ามาสู่เมืองกรุงด้วยการโอบอุ้มของ "ใหม่ เมืองคอน" หรือชูโชค (เดิมชื่อ สมคิด) ชูแก้วรุ่งโรจน์ เจ้าของฉายา "จอมวันทาสิบทิศ" ผู้โอบอ้อมอารี ขึ้นสังเวียนมาตรฐานทั้งราชดำเนิน-ลุมพินี พบกับมวยดีมีระดับ เคยชนะน็อกและชนะคะแนนพานเพชร เมืองสุรินทร์, ชนะน็อก พงษ์ศักดิ์ พ.รื่นฤดี ยก 3 ต่อยมวยรอบฉลามของทรงชัย รัตนสุบรรณ แต่โชคไม่ดีแพ้ตกรอบแรกไปเสียก่อน ค่าตัวประมาณ 5-6 หมื่นบาท แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ขึ้นชิงแชมป์มวยไทยเลยสักเส้น ในยุคนั้นมีรุ่นพี่ร่วมค่ายอย่างเจริญทอง เกียรติบ้านช่อง, อาคม เฉ่งไล่ โด่งดังทั้งในเชิงมวยไทยและมวยสากลสมัครเล่น แถมยังเป็นยุคทองที่แชมป์โลกมวยสากลอาชีพเมืองไทยกำลังบูม หลังจากแสน ส.เพลินจิต, หยกไทย ศิษย์ อ. และพิชิต ช.ศิริวัฒน์ ครองแชมป์โลก WBA ประกาศศักดากันเป็นว่าเล่น ใหม่ เมืองคอนอยากมีแชมป์มวยสากลประดับค่ายบ้าง จึงเรียนลัดจับเด่นเก้าแสน ขึ้นชิงแชมป์ฟลายเวต "PABA" ที่ว่างในครั้งแรกทันที ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ทำให้ลูกพี่ผิดหวัง คว้าแชมป์มาครองในการสวมรองเท้าชกอาชีพไฟต์แรก ชนะคะแนนเมลวิน มากราโม่ นักชกฟิลิปปินส์ตระกูล "หัวกะโหลกไขว้" เมื่อ 28 พ.ย. 2539 ที่จังหวัดสงขลา

       แวฮามะรำลึกถึงการชกสากลอาชีพครั้งแรกๆ ว่า "ที่จริงไม่อยากชกมวยสากลด้วยซ้ำไป เพราะยังไม่เป็นมวยเท่าไหร่ ต่อยมวยสากลต้องซ้อมหนัก แล้วก็เจ็บตัวมากเพราะยังปัดป้องออกหมัดเก้งก้างอยู่ ยิ่งเจอกับมวยทรหดอย่างมากราโม่ด้วยแล้ว ทำเอาผมบอบช้ำไม่น้อยเลยทีเดียว ผมมาเริ่มเป็นมวยสากลมากขึ้น ในช่วงที่ได้ครูปุ๋ย อ.สุเทพ ณ นคร เข้ามาดูแล จากนั้นเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้น ก็ทำให้เราต่อยได้ดีขึ้นรู้จักการป้องกันตัวทั้งรุกและรับ" จากนั้นมาเจ้ามะก็สามารถป้องกันแชมป์พาบาไว้ได้อย่างยาวนานถึง 18 ครั้ง ก่อนจะสละเข็มขัดเพื่อก้าวไปชิงแชมป์โลก "WBA" ครั้งแรก แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อเป็นฝ่ายพ่าย TKO อีริก โมเรล แชมป์โลกชาวเปอร์โตริโก ในยกที่ 11 ที่ฟลอริดา สหรัฐไปเมื่อ 12 ต.ค. 2545
       อย่างไรก็ตามเด่นเก้าแสนยังไม่ท้อ และได้โอกาสกลับมาชิงแชมป์พาบาเส้นเดิม รอบนี้ป้องกันแชมป์สมัยที่สองไว้ได้อีกถึง 14 ครั้ง แต่ในระหว่างนั้นชะตาชีวิตเกิดผกผันครั้งใหญ่ขึ้นอีก เมื่อลูกพี่ใหญ่ ใหม่ เมืองคอน เสียชีวิตลงด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้ค่ายเกียรติบ้านช่องต้องปิดตัวลง เจ๊หน่อย นางภารดี ภรรยาเจ้าของค่ายจำเป็นต้องขายเด่นเก้าแสนให้กับ เสี่ยนริส สิงหวังชา รับช่วงดูแลเพื่อสร้างสรรค์สู่บัลลังก์โลกต่อไป ในวงเงินค่าตัว 1.6 ล้านบาท และเจ้ามะเองได้ส่วนแบ่งครั้งนั้นเป็นเงิน 3 แสนบาท พร้อมกับมีดุรงค์ อพอลโล่ นักมวยเก่า หรือสวัสดี วรสิงห์ ที่เจ้ามะชอบเรียกว่า "ดันดี ยูไนเต็ด" เข้ามาเป็นเทรนเนอร์คู่บารมี คอยดูแลกันมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
 
      เด่นเก้าแสนรั้งตำแหน่งรองแชมป์โลกเบอร์ 1 ในรุ่น 112 ปอนด์ของ WBA ต่อเนื่องมานานแบบมาราธอนเกือบสามปี จึงสบโอกาสสละแชมป์พาบา ขึ้นไปชิงแชมป์โลก WBA เส้นเดิมอีกครั้ง แต่คราวนี้ทำได้แค่เสมอ ทาเคฟูมิ ซากาตะ เจ้าของตำแหน่งชาวซามูไรอย่างน่าเจ็บใจในการชกที่เมืองไซอิตามะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2550 เหตุเพราะยกแรก เจ้ามะได้จังหวะจ้วงหมัดขวาส่ง แชมป์โลกร่วงลงไปกองนับแปดแล้ว แต่ยกสี่ เกิดหัวแม่โป้งซ้ายหลุดขึ้นมา จึงต้องประคองตัวชกมือเดียวไปตลอดจนครบ 12 ยก แถมยกสุดท้ายยังถูกกรรมการผู้ห้ามบนเวทีตัดคะแนนเข้าให้อีกในข้อหาหนีบหมัด ทำให้ต้องเสมอกันไปแบบไม่เป็นเอกฉันท์ 115-112, 112-114, และ 113-113 ชวดครองแชมป์โลกไปอย่างน่าเจ็บใจ และต้องอกหักซ้ำสองจากการชิงแชมป์โลก เที่ยวนี้ เมื่อหลังหักกลบลบหนี้ได้ค่าเหนื่อยกลับบ้านเพียงแค่แสนกว่าบาท ซ้ำยังต้องพักรักษาหัวแม่โป้งนิ้วมือตัวเองที่บาดเจ็บอีกนานหลายเดือน จนทำเอาเจ้าตัวท้อ คิดอยากจะเลิกมวยไปเลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยปัญหาชีวิตครอบครัวที่แร้นแค้นและยากจน ทำให้ต้องทนชกมวยต่อไป
       ต่อมาไม่นานนักเสี่ยนริสก็ดันให้ขึ้นชิงแชมป์ฟลายเวตสภามวยเอเชีย (ABCO) ที่ปัจจุบันเป็นมาเป็น WBC Asia ที่ว่าง และเจ้ามะก็เอาชนะน็อกเรย์ โอราอิส นักชกฟิลิปปินส์ ยก 3 เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2551 ได้ครองแชมป์สมใจ แต่แล้วลูกพี่ก็ให้สละตำแหน่ง และหันกลับไปชิงแชมป์ฟลายเวตเฉพาะกาล PABA อีกครั้ง เพื่อช่วยเพื่อนซี้ "แชแม้" นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ ผจก.ร่วมขึ้นป้ายเป็นคู่เอก เอาใจสปอนเซอร์ใหญ่กระทิงแดงยิม และคราวนี้ก็ชนะน็อกเดนนิส จูนตินลาโน่ ในยก 2 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551 ได้แชมป์มาคาดเอวอีกเส้น
 
       หลังจากนั้นไม่นาน ทางสมาคมมวยโลกก็ได้มีคำสั่งอย่างป็นทางการให้เด่นเก้าแสนขึ้นชิงแชมป์โลกอีกเป็นครั้งที่สามในชีวิต พร้อมข้อเสนออันงดงาม ด้วยค่าตัว 6 หมื่นเหรียญสหรัฐ ตั๋วเครื่องบิน 7 ใบ ในไฟต์บังคับที่ไม่มีอ๊อปชั่นผูกมัดหลังการชกใดๆ รวมวันที่รอคอยชำระแค้นมาหนึ่งปีพอดี และเหนืออื่นใด เขาต้องแบกภาระสารพัน การชกทุกครั้งจะถูกหักหนี้เพื่อชำระหนี้สินที่หยิบยืมไป ทั้งยังต้องเลี้ยงดูครอบครัวภรรยาและลูกน้อย ไหนจะต้องถูกไล่ที่หาที่อยู่ใหม่ทันทีเมื่อกลับจากญี่ปุ่นในครั้งนี้
       ก่อนขึ้นเครื่อง เจ้าตัวทนความเก็บกดไม่ไหวถึงกับต้องถามผู้จัดการส่วนตัวอย่างตรงไปตรงมา ทั้งที่เป็นคนขี้เกรงใจและมักไม่กล้ามีคำถามโต้แย้งใดๆมาตลอด และได้คำตอบว่าค่าเหนื่อยจากการชกครั้งนี้เขาจะได้ส่วนแบ่ง 5 แสนบาท เป็นมูลค่าที่เจ้าตัวพอใจถือว่าพอเพียงต่อความอัดอั้นตันใจที่ต้องเก็บสะสมมาเป็นเวลานาน
       ถึงเวลานั้น เขาพร้อมแล้วที่จะมุ่งมั่นทุมเททุกอย่างเพื่อเดิมพันทั้งชีวิต ความรู้สึกนั้นเจ้ามะถึงขนาดเปรยออกมาให้คนใกล้ชิดได้ฟังระหว่างนั่งเครื่องบินมุ่งหน้าสู่แดนอาทิตย์อุทัยว่า "ชกครั้งนี้ ถ้าผมแพ้กลับไปชีวิตผมจะไม่เหลืออะไรเลย แม้แต่บ้านก็ไม่มีอยู่..ผมต้องสู้ตายอย่างเดียว" หลังจากนั้น ก็คือเหตุการณ์เมื่อค่ำคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ที่ซัน พลาซ่า ฮอลล์ เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ที่ทำให้เด่นเก้าแสนกลายเป็นแชมป์โลกคนใหม่ เป็นความสำเร็จที่งดงามและรวดเร็วเกินความคาดหมาย สำหรับชัยชนะของเด่นเก้าแสน กระทิงแดงยิม ที่สามารถคว้าแชมป์ฟลายเวตสมาคมมวยโลก (WBA) มาครองสมใจด้วยการชนะน็อกทาเคฟูมิ ซากาตะ เจ้าของตำแหน่งชาวซามูไรลงได้อย่างรวดเร็วแค่ในยกที่ 2 ของการชกที่ ซันพลาซ่า ฮอลล์ เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อค่ำวันสิ้นปี พุธที่ 31 ธ.ค. 2551 ด้วยหมัดฮุคขวาเข้าเต็มๆทัดดอกไม้ของเจ้าของตำแหน่งชาวอาทิตย์อุทัยในปลายยกดังกล่าว และหมัดนี้หมัดเดียวเท่านั้นก็ส่งร่างของซากาตะทรุดลงไปกับพื้นอย่างช้าๆ และหงายหลังเหยียดยาวอยู่ข้างเชือก แม้ว่ายอดกรรมการผู้ห้ามบนเวทีจะพยายามนับอย่างช้าๆเพื่อให้ซากาตะลุกขึ้นได้ แต่ซากาตะก็ยืนไม่อยู่ ทำให้กรรมการผู้นั้นต้องจำใจโบกมือยุติการชกลงด้วยเวลา 2 นาที 55 วินาที ของยกที่ 2 นี้เอง 
 
       นอกจากจะเป็นความเพียรพยายามของ เจ้ามะ ที่ต้องรอคอยมานานนับสิบปีแล้ว เขายังกลายเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนที่ 39 หากนับแค่สถาบันหลัก (WBC, WBA, IBF, WBO) ซ้ำยังเป็นแชมป์โลกชาวใต้คนที่สองต่อจากโอเล่ห์ดง กระทิงแดงยิมอีกด้วย ส่วนหนึ่งแห่งความสำเร็จของเด่นเก้าแสนในครั้งนี้มีองค์ประกอบหลายอย่าง นอกจากเสี่ยนริส ผู้สนับสนุนแล้ว ทีมงานสต๊าฟโค้ชเดิมอย่างดุรงค์ อพอลโล่, ภูมิ โอซาก้า และยิ่งได้เขาทราย แกแล็คซี่ อดีตแชมป์โลกขวัญใจชาวไทยเข้ามาเป็นเทรนเนอร์ "พิเศษ" เสริมเทคนิคการชก ก็ดูเหมือนความมั่นใจและสภาพความฟิตของเจ้ามะจะอยู่ในขั้นสมบูรณ์ทุกอย่าง แม้วัยจะปาเข้าไป 32 ปีแล้วก็ตาม องค์ประกอบเหล่านั้นดูจะเป็นการหล่อหลอมให้เด่นเก้าแสน มีสภาพพร้อมเต็มพิกัด การได้แชมป์โลกเส้นนี้มาครอง โดยไม่มีอ๊อปชั่นหรือสัญญาใดๆผูกมัด ยังไม่ทันข้ามคืนก็ดูเหมือนเส้นทางของแชมป์โลกคนใหม่ชาวไทยจะมีตัวเลือกแจ้งเกิดใหม่อย่างทันตาเห็นเลยทีเดียว
       คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของเด่นเก้าแสน กระทิงแดงยิม เหนือทาเคฟูมิ ซากาตะ เพียงแค่ยกที่ 2 จนสามารถคว้าเข็มขัดแชมป์ฟลายเวต สมาคมมวยโลก (WBA) มาครองได้สำเร็จเป็นของขวัญอันล้ำค่ายิ่งสำหรับพี่น้องชาวไทย รับศักราชใหม่ปี พ.ศ.2552 ก่อนจะเป็นแชมป์โลกขวัญใจชาวไทยสถาบันหลักคนที่ 39 เส้นทางของเด่นเก้าแสน ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ต้องต่อสู้ผ่านชัยชนะและพ่ายแพ้มาอย่างโชกโชน จัดว่าเป็นนักสู้ชีวิตที่มีความมานะบากบั่น ในทำนองเดียวกับ "สมจิตร จงจอหอ" ที่ล้มเหลวหลายครั้งกว่าจะคว้าเหรียญโอลิมปิกมาครอง แต่บทสรุปของเด่นเก้าแสนจะสมบูรณ์แบบด้วยเกียรติยศและรางวัลหมือนอย่างที่สมจิตรได้หรือไม่ เวลาและผลงานของเด่นเก้าแสนจะเป็นผู้ตอบคำถาม
 
       หลังจากได้เข็มขัดแชมป์ เด่นเก้าแสนเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ตัวเองว่า ความจริงแล้วชกมวยมามากมาย ป้องกันแชมป์พาบาแต่ละสมัย รวมกันแล้วก็ไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่่อครั้งอยู่กับน้าใหม่ เมืองคอน ช่วงแรกๆป้องกันแชมป์พาบาได้ 18 ครั้ง ชกแต่ละครั้งได้ค่าตัวไฟต์ละ 1 แสนบาท เมื่อย้ายมาอยู่กับเสี่ยนริส สิงหวังชา ได้ค่าตัวน้อยเหลือไฟต์ละ 8 หมื่นบาท คนภายนอกอาจจะคิดว่า น่าจะมีเงินเก็บมากมายพอสมควร แต่ความจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสมัยอยู่กับน้าใหม่ เงินค่าตัวส่วนใหญ่จะได้แบบผ่อนส่ง เพราะน้าใหม่ไม่ค่อยมีเงิน ซ้ำค่าใช้จ่ายในค่ายช่วงนั้นก็มีภาระเยอะมากมาย บางทีไม่มีเงินก้อนให้ จ่ายเป็นเดือนบ้างก็บ่อยไป แต่เราก็เข้าใจเขา ยิ่งมาอยู่กับเสี่ยนริส ค่ากินอยู่ ค่าน้ำ ค่าไฟ เราต้องดูแลตัวเองตลอด ไหนจะเรื่องเลี้ยงดูลูกและเมียด้วย เรื่องชกมวยต้องรอนาน 3-4 เดือนจึงจะได้ชกสักครั้ง จึงแทบไม่มีเงินเหลือใช้ในแต่ละเดือน โชคยังดีถ้าช่วงไหนช๊อตขึ้นมา สามารถไปขอหยิบยืมเสี่ยนริสได้ตลอดเวลา แต่เมื่อชกมวยแล้วจะต้องถูกหักหนี้แต่ละครั้งไป
 
       ชีวิตครอบครัว เด่นเก้าแสนอยู่กินกับภรรยาคนที่สอง จารุณี เกียรติวงศ์ มา 6 ปีแล้ว มีทายาทวัยขวบครึ่งชื่อ ด.ญ.ฐิติมา หวังมุ๊ หรือ "น้องแวซง" เป็นพยานรัก ก่อนหน้านั้นอยู่กินกับภรรยาคนแรก ใช้ชีวิตกันมาสิบกว่าปี มีลูกชายหนึ่งคน คือด.ช.โสพล หวังมุ๊ ปัจจุบันอายุ 12 ขวบ เมื่อหย่าร้างกับภรรยาคนแรก ก็นำลูกชายไปฝากเลี้ยงไว้กับปู่และย่าที่เกาะสมุย เรียนหนังสือที่นั่น แชมป์โลกคนล่าสุด ยังเล่าว่าใครๆ มักจะพูดว่าศาสนาเราให้มีภรรยาได้หลายคน แต่เรื่องจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้น "ผมเห็นเขาพูดกันเยอะ แต่จริงๆมีที่ไหนกัน ผู้หญิงที่ไหนเขาจะไปยอมให้เรามีเมียพร้อมๆกันได้ ภรรยาคนปัจจุบันก็ขี้หึงจะตาย แค่เอ่ยชื่อพูดถึงก็ไม่ได้ จะเป็นเรื่องราวกันตลอด ตัวผมก็ไม่อยากมีปากมีเสียงอยู่แล้ว ความจริงโทษใครไม่ได้ ต้องบอกว่าเราต้องโทษตัวเอง ที่ทำอะไม่คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ มีครอบครัวแล้วสมัยก่อนยังทำตัวเหลวไหล เที่ยวเตร่นอกลู่นอกทางบ้าง แต่ถึงวันนี้ประสบการณ์สอนเราให้โตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก ผมคิดว่าวันนี้ได้เป็นแชมป์โลกแล้ว ชีวิตอาจจะดีขึ้น น่าจะพอลืมตาอ้าปากขึ้นได้บ้างครับ" แชมป์โลกนักสู้ชีวิตกล่าวอย่างมีความหวัง


 

ADS