ประวัติ วีนัส วิลเลี่ยมส์

| 01/01/1970 07:00 น. | 1620 Views

 

วีนัส วิลเลี่ยมส์ ดาวพระศุกร์ แห่งวงการเทนนิสหญิง

วีนัส วิลเลี่ยมส์ ยอดนักเทนนิสผิวสีชาวอเมริกัน และอดีตนักหวดมือ 1 ของโลก มีชื่อเต็มว่า วีนัส อีโบนี่ สตารร์ วิเลี่ยมส์ (Venus Ebony Starr Williams) เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 1980 ที่ ลินวู้ด, แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีน้องสาว 1 คน คือ เซเรน่า ซึ่งเป็นอดีตนักเทนนิสมือ 1 ของโลก เช่นเดียวกับเธอ
 
สำหรับ วีนัส ถือเป็นนักเทนนิสหญิงที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากมายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งวิลเลี่ยมส์ คว้าแชมป์แกรนด์ สแลม ได้ถึง 15 รายการ (ประเภทเดี่ยว 7 รายการ, หญิงคู่ 6 รายการ และ คู่ผสมอีก 2 รายการ) นอกจากนี้ เธอยังสามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ ในประเภทหญิงเดี่ยว และ หญิงคู่ ที่ ซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2000 อีกด้วย 

สไตล์การเล่น
 
ชื่อของ วีนัส กลายเป็นที่รู้จักในวงการลูกสักหลาดอย่างรวดเร็ว ในฐานะนักเทนนิสหญิงที่เล่นได้อย่างครบเครื่อง และมีสไตล์การตีที่ดุดัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นท้ายคอร์ต, การเล่นลูกวอลเลย์ รวมถึงสามารถโฉบขึ้นเล่นหน้าเน็ทได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น ลูกเสิร์ฟของเธอ ยังถูกบันทึกว่ามีความเร็วเฉลี่ยมากที่สุดคนหนึ่งในรายการ ดับบลิวทีเอ ทัวร์ อีกด้วย ส่วน อาวุธเด็ดของเธอ ก็คือ ลูกแบ็คแฮนด์สองมืออันทรงพลัง นั่นเอง

ชีวิตการเล่นเทนนิสอาชีพ

1994-1999 : เริ่มต้นอาชีพนักเทนนิส


วีนัส ก้าวเข้าสู่เส้นทางของนักเทนนิสอาชีพในวันที่ 31 ตุลาคม 1994 โดยเธอลงแข่งในรายการเทนนิสที่ โอ๊คแลนด์ และจบการเล่นเพียงรอบที่สองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นั่นก็เป็นเพียงทัวร์นาเม้นต์เดียวที่เธอลงแข่งในปี 1994 และอีกใน 2 ปีนัดมา เธอยังไม่ลงเล่นในฐานะนักเทนนิสอาชีพเต็มตัวนัก ซึ่งส่งผลให้เธอลงแข่ง 5 รายการในปี 1995 และ 6 รายการในปี 1996 
 
พอก้าวเข้าสู่ในปี 1997 วีนัส ก็เริ่มลงแข่งขันสม่ำเสมอมากขึ้น โดยไฮไลท์ของเธอในปีนี้ คือ การผ่านเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ แกรนด์ สแลม ยูเอส โอเพ่น ได้สำเร็จ แต่ด้วยประสบการณ์และอายุที่ยังน้อย จึงทำให้เธอ เป็นฝ่ายปราชัยให้กับ มาร์ติน่า ฮินกิ้นส์ อดีตนักเทนนิสชื่อดังชาวสวิส ไปอย่างง่ายดาย 2-0 เซ็ต ด้วยสกอร์ 6-0, 6-4 ถัดมาในปี 1998 วีนัส ก็สามารถคว้าแชมป์แกรนด์ สแลม ออสเตรเลี่ยน โอเพ่น และ เฟร้นช์ โอเพ่น ในประเภทคู่ผสมมาครองได้สำเร็จ โดยเธอจับคู่กับ จัสติน กิมเมลสตอร์บ นักหวดเพื่อนร่วมชาติ

สำหรับในประเภทเดี่ยว วีนัส ก็ยังคว้าแชมป์ แกรนด์ สแลม คัพ และทัวร์นาเม้นต์เทนนิส ที่ ไมอามี่ และ โอคลาโอม่า ซิตี้ มาเชยชมได้อีก 2 ถ้วย รวมถึงสามารถเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศในศึกแกรนด์ สแลม ทั้งสี่รายการ และจบปิดฉากซีซั่นนี้ ด้วยการเป็นมืออันดับ 5 ของโลก

 วีนัส วิลเลี่ยมส์

ผลบอล , live score

 ผลบอล , live score

ในปี 1999 วีนัส กวาดถ้วยรางวัลได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทัวร์นาเม้นต์ที่ ฮัมบูร์ก, โรม, นิว เฮเว่น และ ซูริค ขณะเดียวกัน เธอก็ยังแท็กทีมกับ เซเรน่า คว้าแชมป์แกรนด์ สแลม เฟร้นช์ โอเพ่น และ ยูเอส โอเพ่น ประเภทหญิงคู่ได้อีกในปีเดียวกัน ทำให้พวกเเธอเป็นคู่สองพี่น้องคู่แรกในศตวรรษที่ 20ที่สามารถคว้าแชมป์แกรนด์ สแลม มาครองได้ถึง 2 รายการ และ วีนัส ยังช่วยให้ทีมชาติสหรัฐฯ คว้าแชมป์ เฟด คัพ มาครองได้เป็นสมัยที่ 16 หลังจาก เธอและ เซเรน่า มีส่วนช่วยให้ทีมต้อนเอาชนะ  รัสเซียไปได้ 4-1 ในรอบชิงชนะเลิศ
 
2000 : คว้าแชมป์ แกรนด์ สแลม ประเภทเดี่ยว ครั้งแรก  และเหรียญทองโอลิมปิก

วีนัส ออกสตาร์ทซีซั่นด้วยความโชคร้าย เพราะเธอต้องชวดลงสนามถึง 4 เดือน เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บที่ข้อมือทั้งสองข้าง และแม้จะกลับมาลงเล่นในรายการ แกรนด์ สแลม เฟร้นช์ โอเพ่น แต่ วีนัส ก็จอดป้ายแค่เพียงรอบก่อนรองชนะเลิศ เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม นับแต่นั้นเป็นต้นมา วีนัส ก็กลับมาสู่ฟอร์มยอดเยี่ยม โดยเธอเอาชนะ ได้ถึง 35 เกมติดต่อกัน ในการแข่งขันประเภทหญิงเดี่ยว รวมถึงการคว้าแชมป์แกรนด์ สแลม แรกในชีวิตของเธอ ในรายการ วิมเบลดัน ภายหลังโค่นเอาชนะ ลินเซย์ ดาเวนพอร์ต แชมป์เก่าชาวสหรัฐฯ ในรอบชิงชนะเลิศ
 
นอกจากนี้ เธอยังกวาดแชมป์รายการเทนนิส ฮาร์ทคอร์ต ได้อีก 3 รายการ ที่ สแตนฟอร์ด, แคลิฟอร์เนีย, ที่ ซานดิเอโก้ และ นิว เฮเว่น, คอนเน็คติคัต เรื่อยมาจนถึงศึกยูเอส โอเพ่น วีนัส ก็สามารถซิวแชมป์แกรนด์ สแลม รายการที่ 2 ให้กับตัวเองได้สำเร็จ หลังจาก ตบเอาชนะคู่ปรับเดิมอย่าง ดาเวนพอร์ต ในรอบชิงชนะเลิศ
 
นอกจากนี้ วีนัส ยังสร้างชื่อให้กับตัวเอง ด้วยการคว้าเหรียญทองในกีฬาเทนนิส ประเภทหญิงเดี่ยว และ หญิงคู่ ของศึกโอลิมปิกเกมส์ ที่ ซิดนีย์ ประเทศ ออสเตรเลีย ได้อีกด้วย หลังจากตบเอาชนะ เยเลน่า ดิเมนเตียว่า นักเทนนิสชาวรัสเซีย ในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งส่งผลให้เธอเป็นนักเทนนิสคนที่สองที่สามารถคว้าเหรียญทองได้ทั้งสองประเภทในโอลิมปิกเกมส์ปีเดียวกัน แต่ สถิติชนะรวดของเธอก็สิ้นสุดลงเมื่อพลาดท่าปราชัยให้กับ ดาเวนพอร์ต ในเกมนัดชิงฯ รายการเทนนิสที่ ลินซ์ ในเดือนตุลาคม ซึ่งนับแต่นั้นมา วีนัส ก็ไม่ได้ลงแข่งขันอีกเลยจนจบซีซั่น เนื่องจากสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์
 
2002 : ขึ้นเป็นมือ 1 ของโลก 

วีนัส เริ่มต้นปีได้อย่างสวยงาม ด้วยการคว้าแชมป์รายการเทนนิส โกลด์ โคสต์ ที่ ออสเตรเลีย หลังเอาชนะ จัสติน เอแน็ง ยอดนักตบชาวเบลเยี่ยม ในรอบชิงชนะเลิศ แต่น่าเสียดาย ที่เธอกลับไปไม่ถึงดวงดาวในศึกแกรนด์ สแลม ออสเตรเลี่ยน โอเพ่น หลังจอดป้ายแค่รอบก่อนรองชนะเลิศ ทว่าหลังจากนั้น วีนัส ก็สามารถคว้าแชมป์ได้ 2 รายการ 
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา วีนัส กลายเป็นนักเทนนิสหญิงเบอร์ 1 ของโลก และเธอยังเป็นนักเทนนิสแอฟริกัน-อเมริกัน คนแรก ที่ได้ตำแหน่งนี้ นับตั้งแต่มีการจัดลำดับโลกอย่างเป็นทางการ ในปี 1975
 
ก่อนเดินทางไกลไปทำศึกในรายการคอร์ตดิน ที่ยุโรป วีนัส สามารถคว้าแชมป์ได้อีกรายการเป็นการส่งท้าย ที่ อเมเลีย, ฟลอริด้า ด้วยการเอาชนะ คู่ปรับเดิม จัสติน เอแน็ง ในรอบชิงชนะเลิศ ก่อนที่ในรายการที่ ฮัมบูร์ก วีนัส ต้องพ่ายให้กับ คิม ไคลจ์สเตอร์ นักเทนนิสชาวเบลเยี่ยม ซึ่งรั้งมือวางอันดับ 3 ของโลกตอนนั้น  ในรอบชิงชนะเลิศ ไปอย่างน่าเสียดาย เช่นเดียวกับใน เฟร้นช์ โอเพ่น ซึ่งเธอแพ้ให้กับ เซเรน่า น้องสาวของเธอ ไปในรอบชิงดำ
 
เข้าสู่ศึกแกรนด์ สแลม คอร์ตหญ้า วิมเบิลดัน วีนัส ก็สามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในรายการนี้ได้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยไปพบกับ เซเรน่า น้องสาวของเธอ ก่อนที่ในท้ายที่สุด วีนัส จะต้องโดนน้องสอยเอาชนะไปได้ 2 เซ็ตรวด 
 
ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่รายการ แกรนด์ สแลม ยูเอส โอเพ่น  วีนัส กลับมาคว้าแชมป์ให้กับตนเองได้อีก 3 ถ้วย แต่หลังจากนั้น เธอก็ต้องพบกับความปราชัยอีกครั้ง ด้วยน้ำมือของน้องสาวสุดที่รักของเธอ เซเรน่า อีกครั้ง ในนัดชิงชนะเลิศ ของศึกยูเอส โอเพ่น ซึ่งทำให้ วีนัส ต้องเป็นฝ่ายแพ้ให้กับ เซเรน่า เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ในเกมนัดชิงฯ ของศึกแกรนด์ สแลม ที่ผ่านมา
 
อย่างก็ตาม ในฤดูกาลนี้ วิลเลี่ยมส์ผู้พี่ ก็สามารถจบซีซั่นด้วยผลงานที่ยอดเยี่ยม หลังกวาดแชมป์มาครองได้ถึง 7 รายการ ซึ่งรวมถึง การแข่งขันประเภทหญิงคู่ในศึก วิมเบิลดัน โดยเธอกับ เซเรน่า คว้าแชมป์ดังกล่าวมาครองได้เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันด้วย
 
2003 : บาดเจ็บอย่างหนัก

เริ่มต้นฤดูกาลมา วีนัส ก็ต้องโดน เซเรน่า ขโมยชัยชนะไปได้อีกครั้ง หลังเธอเป็นฝ่ายแพ้ไปในรอบชิงชนะเลิศ ศึกออสเตรเลีย โอเพ่น ก่อนที่ เธอจะกลับมาคว้าแชมป์ในรายการเทนนิสที่ โพรซิมัส ไดมอนด์ เกมส์ ที่ อันเวิร์ป, เบลเยี่ยม ซึ่งเป็นการคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันของเธออีกด้วย
 
เมื่อเข้าสู่ การแข่งขัน วิมเบิลดัน วีนัส ก็สามารถพลิกสถานการณ์ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ ภายหลังฮึดกลับมาเอาชนะ ไคลจ์เตอร์ส ได้ในรอบรองชนะเลิศ ทั้งๆ ที่เธอมีอาการบาดเจ็บที่ท้องระหว่างการแข่งขัน โดยไปพบกับคู่ปรับเมื่อปีที่แล้ว นั่นก็คือ เซเรน่า และประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยเดิม เพราะ วีนัส ต้องเป็นฝ่ายปราชัยอีกครั้ง โดยหลังจากที่เกมนั้น ทั้งคู่ต่างก็มีอาการบาดเจ็บรบกวนอย่างหนัก ซึ่งทำให้สองพี่น้อง ต้องพักแร็กเก็ตจนถึงสิ้นปีเลยทีเดียว
 
2004 : ซีซั่นแห่งความผิดหวัง

วีนัส กลับเข้าสู่เวทีลูกสักหลาดอีกครั้งหลังจากพักรักษาอาการบาดเจ็บถึงครึ่งค่อนปี แต่ทว่าผลงานของเธอก็ขึ้นๆ ลงๆ  โดยเธอจอดป้ายแค่เพียงรอบที่ 3 ในศึก ออสเตรเลี่ยน โอเพ่น หลังจากนั้น เธอก็กระเด็นตกรอบก่อนรองชนะเลิศในรายการเทนนิสที่ โตเกียว, ดูไบ และ ไมอามี่ ติดต่อกัน ก่อนที่จะกลับมาสะกดคำว่า “แชมป์” เจออีกครั้ง ในรายการ แฟมิลี่ ไซเคิล คัพ ที่ ชาร์เลสตัน, เซาธ์ แคโรไลน่า และ วอร์ซอร์ รวมถึงยังเข้าชิงชนะเลิศในรายการที่ เบอร์ลิน ซึ่งเธอพบกับ อเมลี โมเรสโม่ นักเทนนิสชาวฝรั่งเศส แต่ก็ต้องถอนตัวไป เนื่องจากบาดเจ็บ
 
ฟอร์มการเล่นอันไม่สม่ำเสมอของเธอยังไม่หมดลง เมื่อเข้าสู่การแข่งขัน เฟร้นช์ โอเพ่น วีนัส ซึ่งมีสถิติการเล่นบนคอร์ตดินที่ยอดเยี่ยมหากเทียบกันในประเภทหญิง รวมถึงเธอยังถูกจัดให้เป็นตัวเต็งในการคว้าแชมป์อีกด้วย แต่ในท้ายสุด วีนัส ก็ไปไม่ถึงดวงดาวอย่างที่ใครๆ คาดหวัง เพราะกลับจอดป้ายเพียงแค่รอบก่อนรองชนะเลิศ หลังแพ้ให้กับ อนาสตาเซีย มายสกินน่า แชมป์ในปีนั้น ไปแบบไม่ได้ลุ้น 2 เซ็ตรวด เช่นเดียวกับ ในศึกวิมเบิลดัน ซึ่ง วีนัส ตกรอบไปตั้งแต่ไก่โห่ แค่เพียงรอบ 2 เท่านั้น หลังจากก่อนหน้าที่ เธอสามารถเข้าชิงฯ ในรายการนี้ได้ถึง 2 ครั้งติดต่อกัน
 
วีนัส ซึ่งเป็นมืออันดับ 3 ในขณะนั้น ยังคงห่างหายจากการได้สัมผัสถ้วยรางวัลต่อไป รวมถึงการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ วีนัส ซึ่งเข้าร่วมแข่งขันในฐานะแชมป์เก่าจาก โอลิมปิก เกมส์ 2000 ที่ประเทศ ออสเตรเลีย ก็ต้องชอกช้ำกะหล่ำปีอีกครั้ง หลังไปไม่ถึงดวงดาว ปราชัยให้กับ แมรี่ เพียซ นักตบสาวชาวฝรั่งเศสไปแบบง่ายดาย 2 เซ็ตรวด ด้วยสกอร์ 6-4, 6-4 ในรอบที่ 3
 
เมฆหมอกดำในชีวิตนักเทนนิสของ วีนัส ยังคงคลืบคลานเข้าสู่ศึก ยูเอส โอเพ่น ต่อไป โดยเธอ ต้องพ่ายให้กับ ดาเวนพอร์ต ไปในรอบที่ 4 ซึ่งนี่เธอเป็นความปราชัยครั้งที่ 3 ติดต่อกันของเธอในการปะทะแร็กเก็ตกับ ดาเวนพอร์ต ก่อนที่จบปีนี้ วีนัส จะแพ้ส่งท้ายไปในรอบก่อนรองชนะเลิศ 3 รายการติดต่อกัน ที่ มอสโก, ซูริค และ ฟิลาเดเฟีย
 
2005 : คว้าแชมป์วิมเบิลดัน สมัยที่ 3

 วีนัส ออกสตาร์ตฤดูกาลยังไม่ดีนัก โดยตกรอบที่ 4 ศึกแกรนด์ สแลม ออสเตรเลี่ยน โอเพ่น หลังพ่ายให้กับ อลิเซีย โมลิก ก่อนที่จะทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศในรายการ อันต์เวิร์ป ที่เบลเยี่ยม ซึ่งเธอพยายามที่จะคว้าแชมป์ให้ได้เป็นสมัยที่ 3 ในรอบ 4 ปี แต่เธอก็ต้องพลาดหวังไป เพราะไปแพ้ให้กับ อเมลี โมเรสโม่ นักเทนนิสชาวฝรั่งเศส ในรอบชิงชนะเลิศ หลังจากนั้นก็ยังไปตกรอบแรกในรายการที่ ดูไบ อีก

ในรายการเทนนิส แนสแด็ก-100 โอเพ่น ที่ ไมอามี่ วีนัส สามารถเอาชนะ เซเรน่า น้องสาวของเธอได้สำเร็จ ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ซึ่งนับเป็นชัยชนะครั้งที่เธอมีต่อ เซเรน่า นับตั้งแต่ศึกยูเอส โอเพ่น ปี 2001 อย่างไรก็ตาม เธอก็ไปพ่ายให้กับ มาเรีย ชาราโปว่า นักเทนนิสสาวชาวรัสเซีย ในนัดชิงดำ

ในรายการที่ อเมเลีย ไอสแลนด์ วีนัส จอดป้ายแค่รอบก่อนรองชนะเลิศ ต่อมาในทัวร์นาเม้นต์ ที่ ชาร์เลสตัน วีนัส ก็เข้าถึงแค่รอบที่สาม ก่อนที่ เธอจะกลับมาคว้าแชมป์ได้อีกครั้ง ที่ อิสตันบูล แต่หลังจากเข้าสู่ศึก เฟร้นช์ โอเพ่น วีนัส ก็ต้องพบกับคำว่าแพ้อีกจนได้ โดยเธอ เสียท่าให้กับ เซซิล คาราตานต์เชว่า นักเทนนิสชาวบัลแกเรีย วัยเพียง 15 ปี ในรอบที่สาม แต่ทว่า คู่ต่อสู้ของเธอ ก็กลับถูกตรวจโด๊ปไม่ผ่าน และโดนห้ามแข่งเทนนิสเป็นเวลา 2 ปี ในเวลาต่อมา

ในศึกวิมเบิลดัน วีนัส กลับสู่ฟอร์มเก่งอีกครั้ง ด้วยการคว่ำ ลินเซย์ ดาเวนพอร์ต มาได้ 2-1 เซ็ต สกอร์ 6-4, (4)6-7,  9-7 และทำให้ เธอคว้าถ้วยวิมเบิลดันเป็นสมัยที่ 3 และถือเป็นนักเทนนิสมือต่ำสุด (อันดับ 16 ของโลก, มือวางอันดับ 14 ของรายการ) ที่คว้าแชมป์ มาครองได้ และแมตช์นี้ยังถูกบันทึกว่า เป็นเกมที่มีระยะการแข่งขันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ในประเภทหญิงเดี่ยว อีกด้วย รวมถึงเป็นครั้งที่ 5 ที่วีนัสเข้าถึงรอบชิงฯ ศึกวิมเบิลดัน ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา

ในสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน รวมไปถึง เฟด คัพ วีนัส สามารถเข้าถึงรอบชิงฯ ในรายการที่ สแตนฟอร์ด หลังจากคว่ำ แพ็ตตี้ ชไนเดอร์ มาได้ ในรอบก่อนรองฯ แต่ทว่า ก็ต้องโดน คิม ไคลจ์สเตอร์ นักเทนนิสชาวเบลเยี่ยม เอาชนะไปได้ในท้ายที่สุด และเข้าสู่ศึกยูเอส โอเพ่น 2005 วีนัสทำผลงานเข้าถึงเพียงรอบก่อนรองชนะเลิศเท่านั้น หลังพ่ายให้กับคู่ปรับคนเดิม อย่าง ไคลจ์สเตอร์ ซึ่งเป็นแชมป์ในปีนั้นไป 1-2 เซ็ต

หลังจากนั้น วีนัส ก็ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันเทนนิสส่งท้ายปี ในรายการ โซนี่ อีริคส์สัน แชมเปี้ยนส์ ชิพ  เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บรบกวนในทัวร์นาเม้นต์ เทนนิสที่ ฟิลาเดเฟีย อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ เธอได้รับการยกย่องว่า เป็นนักเทนนิสที่ดีที่สุดแห่งวงการลูกศักราชยุคใหม่ ที่อันดับ 25 จากทั้งหมด 40 คน

2006 : ปัญหาบาดเจ็บรุมเร้า

วีนัส ต้องผิดหวังในรายการ ออสเตรเลี่ยน โอเพ่น อีกครั้ง แถมครั้งนี้ น่าเจ็บใจบวกอับอายกว่าครั้งไหนๆ เพราะเธอกระเด็นตกรอบแรก ด้วยน้ำมือของ ทีสซเวตาน่า ปิรอนโกว่า หลังจากนั้น เธอก็ต้องหยุดเล่นไปตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึง 30 เมษายน เนื่องจากอาการบาดเจ็บกำเริบ และพอกลับมาลงเล่นอีกครั้ง เธอก็ยังทำผลงานได้ไม่ดีนัก โดยไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดๆ ได้เลย รวมถึงศึกเฟร้นช์ โอเพ่น ซึ่งเธอทำได้ดีแค่เพียงรอบก่อนรองชนะเลิศ เท่านั้น

แม้ผลงานจะย่ำแย่ และมีอาการบาดเจ็บรบกวนตลอด แต่ วีนัส ก็ยังถือว่าเป็นตัวเต็งที่จะคว้าแชมป์วิมเบิลดัน เช่นเคย ทว่า วีนัส ก็ยังไม่สามารถคืนฟอร์มเก่งได้ และต้องตกรอบสามเท่านั้น หลังจากไปแพ้กับ เยเลน่า ยานโควิช นักเทนนิสชาวเซิร์บ ซึ่งขณะนั้นเป็นมือวางอันดับ 26 ของรายการ 2-1 เซ็ต ซึ่งเธอก็ออกมายอมรับว่า ตนเองมีอาการบาดเจ็บที่ข้อมือซ้าย และอาการบาดเจ็บยังคงรุมเร้าการเล่นเทนนิสของวีนัสต่อไป หลังจากที่ เธอ ถอนตัวออกจาก ยูเอส โอเพ่น ก่อนที่จะกลับมาลงแข่งแต่ในอีก 3 เดือนต่อไป แต่ก็ต้องบาดเจ็บซ้ำที่ข้อมือเหมือนเดิม ในรายการเทนนิส ที่ ลักเซมเบิร์ก ในเกมที่เธอแพ้ให้กับ อั๊กเนียสซก้า รัดวานสก้า นักเทนนิสซึ่งมาจากรอบคอว์ลิไฟร์  ในรอบที่สอง
 
2007 : สถานการณ์เริ่มดีขึ้น


แม้จะเข้าสู่ฤดูกาลแข่งขันใหม่ แต่อาการบาดเจ็บยังคงเล่นงาน วีนัส อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ต้องถอนตัวออกจาก ออสเตรเลี่ยน โอเพ่น ซึ่งทำให้เธอ พลาดลงเล่นในจากรายการ แกรนด์ สแลม เป็นรายการที่ 2 ติดต่อกันแล้ว อย่างไรก็ดี เธอก็กลับมาคว้าแชมป์ได้ในรายการ คูเอลล่า เซาธ์ คัพ ที่ เมมฟิส, เทนเนสซี่ หลังคว่ำ ชาฮาร์ เปีย นักเทนนิสมือวางชาวอิสราเอล ได้ในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งถือเป็นแชมป์แรกของเธอนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2006 และยังเป็นแชมป์ที่ 34 ของในชีวิตนักเทนนิสของเธออีกด้วย

แต่หลังจากนั้น เธอก็ไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันเทนนิสอีก 2 รายการ ก่อนเข้าสู่ทัวร์นาเม้นต์ คอร์ต ดิน แต่ อันดับโลกของเธอก็ขยับมา 7 อันดับ มาอยู่ที่มืออันดับ 32 ของโลก ทว่า หลังจากนั้น ฟอร์มการเล่นของเธอก็ยังไม่โดดเด่นมากนัก โดยไม่สามารถคว้าแชมป์ ได้เลย ในอีก 2 รายการมา ซึ่งเธอทำได้ดีที่สุดแค่เพียงรอบรองชนะเลิศ ในศึก แฟมิลี่ เซอร์เคิล คัพ ที่ ชาร์เลสตัน, เซาธ์ โคโรไลน่า หลังปราชัยให้กับ เยเลน่า ยานโควิช แต่ถึงจะแพ้ วีนัส ก็ยังสามารถทำอันดับขึ้นมาอยู่ที่ 22 ของโลกได้สำเร็จ

วีนัส ลงเล่นศึก เฟด คัพ กับ เซเรน่า น้องสาวเธอ ในสนาม ฮาร์ท คอร์ต ที่ เดลเรย์ บีช, ฟลอริด้า และช่วยให้ทีมสหรัฐฯ เอาชนะทีมเบลเยี่ยมได้อย่างง่ายดาย 5-0 หลังจากนั้น วีนัส ก็เดินทางไปยังแข่งขันเทนนิสที่ยุโรป ในรายการสำหรับเตรียมความพร้อมก่อนลงแข่ง รายการเฟร้นช์  โอเพ่น อีก 2 รายการ ซึ่งเธอก็ไม่สามารถคว้าแชมป์ได้เลย รวมถึง แกรนด์ สแลม คอร์ตดิน ซึ่งเธอจอดป้ายแค่เพียงรอบที่สาม แต่ทว่า ไฮไลท์ ของวีนัส ในทัวร์นาเม้นต์นี้ อยู่ที่รอบสอง ซึ่งเธอสามารถเสิร์ฟได้ความเร็วถึง 206 กม./ชม. และถูกบันทึกให้เป็นสถิติการเสิร์ฟที่เร็วที่สุดเป็นอันดับ 2  ของวงการเทนนิสประเภทหญิง

ก้าวเข้าสู่ ในรายการ วิมเบิลดัน ที่ ออล อิงแลนด์ คลับ วีนัส ก็สามารถกลับมาสร้างชื่อได้อีกครั้ง โดยเธอจัดการซิวถ้วยแชมป์ที่นี่เป็นสมัยที่ 4 หลังเอาชนะ มาริยง บาร์โตลี นักตบสาวชาวฝรั่งเศส ในรอบชิงชนะเลิศ แบบง่ายดาย 2 เซ็ตรวด และการครองแชมป์ครั้งนี้ ทำให้ วีนัส ทำลายสถิติการเป็นนักเทนนิสหญิงที่มีอันดับโลก และ อันดับ มือวางต่ำสุด (มือวางอันดับ 23 ของรายการ และ มืออันดับ 31 ของโลก) ที่ก้าวขึ้นมาชูถ้วยประเภทหญิงเดี่ยว ใน วิมเบิลดัน ได้สำเร็จ ซึ่งก็เป็นการทำลายสถิติเดิมที่เธอเคยทำไว้ เมื่อปี 2005 นั่นเอง

และการคว้าแชมป์ครั้งนี้ ของวีนัส ก็ทำให้เธอกลายเป็นนักเทนนิสหญิงคนที่ 4 ที่สามารถครองแชมป์วิมเบิลดันได้เป็นสมัยที่ 4 เทียบเท่ากับ บิลลี่ จีน คิงส์, มาร์ติน่า นาฟราติโลว่า และ สเตฟฟี่ กราฟ  รวมถึงทำให้ วีนัส ขยับอันดับโลก ขึ้นมาอยู่ที่ 17 อีกด้วย ซึ่งนี่ถือเป็นการกลับเข้าสู่ท็อป 20 ครั้งแรกของวีนัส ในรอบปีเลยทีเดียว

วีนัส กลับไปเล่นในรายการ เฟด คัพ ให้กับ สหรัฐฯ โดยพบกับ รัสเซีย ในรอบรองชนะเลิศ ซึ่ง วีนัส สามารถเอาชนะ นาเดีย เปโตรว่า และ แอนน่า ชั๊คเวตัดเซ่ มาได้ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ก็ต้องตกรอบไป เมื่อดันไปแพ้ในประเภทคู่ ซึ่ง วีนัส จับคู่กับ ลิซ่า เรย์ม็องด์

ในศึก ยูเอส โอเพ่น ทำได้ดีเพียงแค่รอบรองชนะเลิศเท่านั้น หลังจากปราชัยให้กับ จัสติน เอแน็ง นักเทนนิสชาวเบลเยี่ยม ไป 1-2 เซ็ต ซึ่งเธอให้สัมภาษณ์หลังเกมว่า สภาพร่างกายของเธอไม่ค่อยดีนักระหว่างการแข่งขัน และความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ส่งผลให้ วีนัส ทำอันดับหล่นไปอยู่ที่ 9 ของโลก แต่ไฮไลท์ในทัวร์นาเม้นต์นี้ ก็คือ วีนัส สามารถเสิร์ฟลูกเสิร์ฟได้เร็วสูงสุดเป็นสถิติของรายการ ที่ 129 ไมล์ต่อชั่วโมง ในรอบแรก นั่นเอง

ในที่สุด วีนัส ก็สามารถซิวแชมป์ที่ 36 ของเธอได้สำเร็จ ในรายการแข่งที่ ทวีปเอเชีย ที่มีชื่อว่า ฮันโซล โคเรีย โอเพ่น เทนนิส แชมเปี้ยนชิพส์ ที่กรุงโซล, เกาหลีใต้ หลังจากเอาชนะ มาเรีย คิริลเลนโก้ นักตบสาวชาวรัสเซีย มือวางอันดับ 4 ของรายการมาได้ในรอบชิงชนะเลิศ ก่อนที่จะไปแพ้อีก 2 รายการหลังจากนั้น และแม้ว่า อันดับของเธอจะได้สิทธิ์เข้าแข่งขันรายการ ดับบลิวทีเอ ทัวร์ แชมเปี้ยนส์ ชิพ ซึ่งเป็นรายการส่งท้ายปี แต่เธอก็ตัดสินใจถอนตัวออกไปเนื่องเจากมีปัญหาสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ ซึ่งคนที่ได้สิทธิ์เข้ามาแทนเธอก็คือ มาเรีย ชาราโปว่า

2008 : สู่ราชินีคอร์หญ้า

วีนัส เริ่มต้นฤดูกาลแข่งขันนี้ได้อย่างสวยงาม หลังจากคว้าแชมป์ได้ทั้งในประเภทเดี่ยว และ ประเภทคู่ ในรายการเทนนิสนัดพิเศษ ที่ ฮ่องกง แต่เมื่อกลับมาเล่นในศึกออสเตรเลี่ยน โอเพ่น วีนัส ซึ่งขณะนั้นเป็นมือวางอันดับ 8 ของรายการ ก็กลับไปไม่ถึงฝั่งฝันเช่นเคย เมื่อไปพ่ายให้กับ อนา อิวาโนวิช มือวางอันดับ 4 ของรายการ ในรอบก่อนรองชนะเลิศ แต่ก็ถือเป็นการทำผลงานในรายการนี้ได้ดีที่สุดของเธอ  นับตั้งแต่ปี 2003 เลยทีเดียว ขณะที่ในประเภทหญิงคู่ วีนัส ซึ่งเล่นกับ เซเรน่า ก็ไปจอดป้ายแค่รอบก่อนรองชนะเลิศ เช่นกัน หลังพ่ายให้กับ คู่มือวางอันดับ 7 ของรายการ และอดีตแชมป์เมื่อปี 2006 อย่าง ซี ยาน และ เจี้ย เจิ้ง

หลังจากนั้น วีนัส ก็ยังไม่สามารถประสบความสำเร็จคว้าแชมป์มาครองให้กับตนเองได้เสียที เพราะต้องพ่ายให้กับในอีก  รายการแข่งขันติดต่อกัน  ไม่ว่าจะเป็น กาตาร์ โททอล โอเพ่น ที่ โดฮา, คูเอลล่า เซาธ์ คัพ ที่ เมมฟิส, คานารา แบงก์ บังกาลอร์ โอเพ่น ที่ อินเดีย, โซนี่ อีริคส์สัน โอเพ่น ที่ ฟลอริด้า

ในวันที่ 9 เมษายน 2008 วีนัส ประกาศว่าจะไม่ลงทำการแข่งขันเทนนิสมากนัก แต่ก็ปฏิเสธที่จะอธิบายอะไรไปมากกว่าการพูดว่า “ฉันได้เห็นบางสิ่งที่ฉันจำเป็นต้องแก้ไข ดังนั้น ฉันกำลังทำงานอยู่ในตอนนี้ และฉันกำลังหวังที่จะกลับไปให้เร็วที่สุด เพราะฉันผมกีฬานี้มาก” และหลังจากวันนั้น คาร์ลอส เฟลมิ่ง เอเย่นต์ของ วีนัส ก็ออกมากล่าวว่า “นั่นไม่ใช่การหยุดการออกทัวร์แข่งขัน แต่นี่เป็นการจำกัดการเล่น เพื่อประเมินการรักษาสภาพร่างกาย ก่อนที่จะลงแข่งใน 3 ทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ ต่อจากนี้ รวมถึง โอลิมปิก เกมส์ ที่ปักกิ่ง ด้วย วีนัส ได้ให้ความมั่นใจกับผมว่า การรักษาเป็นไปด้วยดี” 

วีนัส กลับมาลงเล่นเทนนิสอีกครั้ง ในรายการ Internazionali BNL d'Italia ที่โรม และจบเส้นทางในรอบก่อนรองชนะเลิศ ด้วยการแพ้ให้กับ เยเลน่า ยานโควิช มือวางอันดับ 4 ของรายการ 1-2 เซ็ต ก่อนที่เธอจะเข้าสู่การแข่งขันคอร์ตดิน ในรายการ เฟร้นช์ โอเพ่น ในฐานะมือวางอันดับ 8 ของรายการ และเธอก็ต้องตกรอบไปอีกครั้ง หลังพ่ายให้กับ ฟลาเวีย เปเน็ตต้า นักหวดมือวางอันดับ 26 ของรายการ 2 เซ็ตรวด ในรอบที่สามเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม วีนัส ก็สามารถคว้าแชมป์ วิมเบิลดัน สมัยที่ 5 ให้กับตนเองได้ สำเร็จ แบบที่ไม่เสียเซ็ตให้กับคู่ต่อสู้เลยตลอดการแข่งขัน หลังจากที่เธอ เอาชนะ เซเรน่า น้องสาวของเธอ มาได้ 2-0 เซ็ต ในรอบชิงชนะเลิศ นอกจากนี้ เธอยังคว้าแชมป์ในประเภทหญิงคู่ร่วมกับ เซเรน่า อีกด้วย หลังปราบ ลิซ่า เรย์ม็องด์ และ ซามานธ่า สโตเซอร์ ในรอบชิงชนะเลิศ
 
ต่อสู้เรียกร้องเงินรางวัลให้เท่าเทียมกับนักเทนนิสชาย

ในปี 2005 วีนัส เป็นนักเทนนิสหญิงตัวตั้งตัวตีที่ออกมาเรียกร้องให้ รายการแกรนด์ สแลม เฟร้นช์ โอเพ่น และ วิมเบิลดัน ยอมจ่ายเงินรางวัลให้กับนักกีฬาหญิงเท่าเทียมกับนักกีฬาชาย โดยแม้ว่าคำร้องดังกล่าวจะถูกปฏิเสธในตอนแรก แต่ในปีถัดว่า ดับบลิทีเอ และ องค์การยูเนสโก ก็ได้จับมือการรณรงค์เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศในด้านกีฬา จนในที่สุด ปี 2007 วิมเบิลดัน ก็ประกาศให้ นักเทนนิสหญิงมีเงินรางวัลเท่าเทียมกับนักเทนนิสชาย ซึ่งก็เป็นวีนัส ที่กลายเป็นนักหวดหญิงคนแรกที่ได้เงินรางวัลดังกล่าว เมื่อเธอคว้าแชมป์ได้ในปีนั้น ขณะที่ ในศึก เฟร้นช์ โอเพ่น ก็มีการเปลี่ยนแปลงกฎเงินรางวัล ในปีถัดมาอีกด้วย 

ชีวิตส่วนตัว
 
ในเช้าวันที่ 14 กันยายน 2003 วีนัส และ เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ ก็ต้องพบกันข่าวร้าย เมื่อทราบว่า ลูกพี่ลูกน้องและผู้ช่วยส่วนตัวของพวกเธอ คือ เยตูนเด้ ปริ๊นซ์ ถูกฆาตกรรมที่ แคมป์ตัน, ฟลอริด้า, สหรัฐฯ ซึ่งพื้นที่เกิดเหตุการณ์อยู่ใกล้กับสถานที่ฝึกซ้อมของสองพี่น้องไปไม่ไกลนัก
 
ชีวิตรักของ วีนัส ถูกเปิดเผยออกสู่สาธารณะชนอย่างกว้างขวาง ในศึกวิมเบิลดัน เมื่อปี 2007 ซึ่งหนุ่มผู้คว้าหัวใจของวีนัสไปครอง มีนามว่า แฮ็งค์ คูเอห์เน่ โปรกอล์ฟหนุ่ม ชาวสหรัฐฯ โดยความสัมพันธ์อันหวานซึ้งได้ปรากฏออกมาให้เห็นเด่นชัด หลังจากที่มีผู้เห็นว่าทั้งสองคนนั่งกุมมือกันในระหว่างมีการพักการแข่งขันขณะที่ฝนตก รวมถึงการที่ คูเอห์เน่ เข้าไปเชียร์สาววีนัส ในบ็อกซ์ที่นั่ง ซึ่งมีพ่อแม่และน้องสาวของวีนัสให้กำลังใจอยู่
 
วีนัส แสดงตัวว่า เป็นสมาชิกขององค์กร Jehovah's Witness ซึ่งเป็นองค์การเกี่ยวกับความเชื่อในศาสนาคริสต์
 
ในวันที่ 13 ธันวาคม 2007 วีนัส ได้รับปริญญาตรีเกี่ยวกับการออกแบบแฟชั่น จาก “the Art Institute of Fort Lauderdale” เกียรตินิยมเหรียญทองแดง (Cum Laude honors) ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.5
 
ธุรกิจส่วนตัว
 
วีนัส ดำรงตำแหน่งเป็น ซีอีโอ (chief executive officer) ของบริษัทออกแบบภายในของตนเอง ที่ชื่อว่า “V Starr Interiors” ซึ่งตั้งอยู่ใน จูปิเตอร์, ฟลอริด้า โดยบริษัทของ วีนัส ได้รับหน้าที่ออกแบบฉากให้กับรายการ "Tavis Smiley Show" ทางสถานีโทรทัศน์ PBS, อพาร์ทเม้นต์ของนักกีฬาโอลิมปิก ในฐานะที่ นิว ยอร์ค ซิตี้ จะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เกมส์ ในปี 2012 รวมถึง ที่พักและสำนักงานธุรกิจในเขต ปาล์ม บีช, ฟลอริด้า อีกด้วย
 
ในปี 2001 วิลเลี่ยมส์ ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 30 ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในสหรัฐฯ จากการจัดของวารสาร “Ladies Home Journal” 
 
ในปี 2007 วิลเลี่ยมส์ ได้จับมือกับ Steve & Barry's ซึ่งเป็นแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง ออกแบบเครื่องแต่งกายของตัวเธอเองภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า “EleVen"

เกียรติประวัติ

ประเภทเดี่ยว
สถิติการเล่น : 496-117
แชมป์อาชีพ : 37
อันดับสูงสุด :  อันดับ 1 (25 กุมภาพันธ์ 2002)
แกรนด์ สแลม
ออสเตรเลี่ยน โอเพ่น : รองแชมป์ (2003)
เฟร้นช์ โอเพ่น : รองแชมป์ (2002)
วิมเบิลดัน : แชมป์ (2000, 2001, 2005, 2007, 2008)
ยูเอส โอเพ่น : แชมป์ (2000, 2001)
ทัวร์นาเม้นต์ระดับชาติ
โอลิมปิก เกมส์ : เหรียญทอง (2000)

ประเภทคู่
สถิติการเล่น : 101-20
แชมป์อาชีพ : 11
อันดับสูงสุด : อันดับ 5 (11 ตุลาคม 1999)
แกรนด์ สแลม
ออสเตรเลี่ยน โอเพ่น : แชมป์ (2001,2003)
เฟร้นช์ โอเพ่น : แชมป์ (1999)
วิมเบิลดัน : แชมป์ (2000, 2002, 2008)
ยูเอส โอเพ่น : แชมป์ (1999)
ทัวร์นาเม้นต์ระดับชาติ
โอลิมปิก เกมส์ : เหรียญทอง (2000)

ข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2551

ADS